ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: หูบาดเจ็บจากความกดดันอากาศ (Barotrauma/Barotitis media)  (อ่าน 85 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 465
    • ดูรายละเอียด
ภาวะนี้พบได้บ่อยในผู้ที่นั่งเครื่องบิน และผู้ที่ดำน้ำลึก เกิดการเปลี่ยนแปลงของความกดดันอากาศ ทำให้เกิดอาการปวดหู หูอื้อ ส่วนใหญ่มักเป็นเพียงเล็กน้อยและหายได้เองในเวลาสั้น ๆ ส่วนน้อยที่อาจมีอาการรุนแรง


สาเหตุ

ในคนปกติ หูชั้นกลางจะมีการปรับความดันอากาศให้เท่ากับหูชั้นนอก (ความดันในบรรยากาศ) โดยการกลืนหรือหาว ทำให้ท่อยูสเตเชียน (ซึ่งเชื่อมระหว่างช่องคอกับหูชั้นกลาง) เปิดให้อากาศมีการเคลื่อนตัวเข้าออก เพื่อปรับความดันในหูชั้นกลางให้เท่ากับหูชั้นนอกตลอดเวลา

ในผู้ที่มีภาวะอุดกั้นของท่อยูสเตเชียน (เช่น ขณะเป็นไข้หวัด หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ โรคหวัดภูมิแพ้ หรือในทารกและเด็กเล็กซึ่งมีท่อยูสเตเชียนที่แคบกว่าผู้ใหญ่เพราะยังเจริญไม่สมบูรณ์) เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของความดันของบรรยากาศ (ขณะเครื่องบินขึ้นหรือลงเร็ว ๆ หรือขณะดำน้ำลึก) ก็จะไม่สามารถปรับความดันในหูชั้นกลางให้เท่ากับหูชั้นนอก ทำให้เยื่อแก้วหูถูกดูดเข้า (กรณีที่ความดันในหูชั้นกลางต่ำกว่าหูชั้นนอก เช่น ขณะเครื่องบินลง) หรือดันให้โป่งออก (กรณีที่ความดันในหูชั้นกลางสูงกว่าหูชั้นนอก เช่น ขณะเครื่องบินขึ้น) และมีน้ำเลือดคั่งที่เยื่อบุภายในหูชั้นกลาง ทำให้เกิดอาการปวดหูและหูอื้อ


อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหู หูอื้อ หูตึงเล็กน้อย มีเสียงดังในหู เวียนศีรษะ หลังนั่งเครื่องบินหรือดำน้ำลึก อาจเป็นที่หูข้างเดียวหรือพร้อมกัน 2 ข้างก็ได้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นอยู่นานเพียง 2-3 ชั่วโมงก็หายไปได้เอง

ในรายที่มีอาการนานกว่า 2-3 ชั่วโมง อาจมีอาการปวดหูรุนแรง หูตึงอย่างมาก มีเลือดออกจากหู หรือมีอาการบ้านหมุนร่วมด้วย ถึงหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็อาจจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์

ทารกและเด็กเล็กที่นั่งเครื่องบิน หากมีภาวะนี้ขณะเครื่องกำลังบินขึ้นหรือลง อาจมีอาการปวด หูอื้อ ร้องกวน งอแง


ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้เยื่อแก้วหูทะลุ หูชั้นกลางอักเสบ หูตึง มีเลือดออกจากหู มีอาการปวดหูเป็น ๆ หาย ๆ วิงเวียนหรือเห็นบ้านหมุนเรื้อรัง


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการที่พบในผู้ที่กลับจากการเดินทางโดยเครื่องบิน หรือดำน้ำลึก และการใช้เครื่องส่องหู จะตรวจพบเยื่อแก้วหูถูกดึงเข้าหรือโป่งออก ในรายที่เป็นมากอาจพบมีรอยห้อเลือดที่เยื่อแก้วหู เยื่อแก้วหูทะลุ หรือมีเลือดออกจากหู และอาจตรวจพบมีเลือดหรือของเหลวอยู่ที่ด้านหลังของเยื่อแก้วหู

ในรายที่มีอาการวิงเวียน เห็นบ้านหมุน ซึ่งแสดงว่ามีความผิดปกติในหูชั้นในร่วมด้วย แพทย์จะทำการตรวจสมรรถภาพของการได้ยิน (audiometry) เพื่อดูว่ามีผลกระทบต่อประสาทหูส่วนการได้ยินมากน้อยเพียงใด


การรักษาโดยแพทย์

1. ถ้าอาการปวดหู หูอื้อไม่หายภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังมีอาการ แพทย์จะให้กินยาสูโดเอฟีดรี และ/หรือยาหดหลอดเลือดชนิดพ่นจมูก

ถ้ามีอาการปวดให้ยาแก้ปวด

ถ้าเป็นหวัดภูมิแพ้ ให้ยาแก้แพ้

ถ้าเป็นไข้หวัดหรือไซนัสอักเสบร่วมด้วย ให้การรักษาควบคู่กันไป

2. ถ้าไม่ทุเลาภายใน 1 สัปดาห์ หรือปวดรุนแรง เยื่อแก้วหูทะลุ หรือมีเลือดออกจากหู แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการกรีดเยื่อแก้วหู (myringotomy) เพื่อระบายเลือดที่คั่งอยู่ในหูชั้นกลาง และปรับความดันในหูชั้นกลางให้เท่ากับหูชั้นนอก

ถ้ามีเยื่อแก้วหูทะลุที่ไม่สามารถปิดได้เอง แพทย์จะทำการปลูกเยื่อแก้วหู (eardrum patch) โดยใช้สารเคมีจี้ที่ขอบรอยฉีกขาด กระตุ้นให้เซลล์เยื่อแก้วหูงอก แล้วปะบริเวณที่รอยฉีกขาดด้วยกระดาษแบบพิเศษ โดยมักต้องทำซ้ำหลายครั้งจนกว่ารูจะปิดสนิท หากวิธีข้างต้นไม่ได้ผลหรือเห็นว่ามีความจำเป็นก็จะทำการผ่าตัดปะเยื่อแก้วหู (tympanoplasty) โดยนำเนื้อเยื่อส่วนอื่นในร่างกาย (เช่น หลอดเลือดดำ เยื่อพังผืดของกล้ามเนื้อ) มาปะรอบบริเวณรูทะลุบนเยื่อแก้วหู

ผลการรักษา ส่วนใหญ่อาการมักจะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์


การดูแลตนเอง

ขณะเครื่องบินขึ้นหรือลง ถ้าหากมีอาการปวดหูหรือหูอื้อเกิดขึ้น ให้รีบทำท่าหาวและกลืนน้ำลาย หรือทำการเป่าลมเบา ๆ ในปากโดยการปิดปากและบีบจมูก ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง เพื่อช่วยให้เปิดท่อยูสเตเชียนให้ลมผ่านเข้าออก ปรับความดันในหูชั้นกลาง ซึ่งอาการมักจะทุเลาได้ทันที

แต่ถ้าอาการไม่หายภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังลงเครื่องบิน ควรไปปรึกษาแพทย์ และดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์


การป้องกัน

1. ขณะเป็นหวัด หูชั้นกลางอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงการนั่งเครื่องบินหรือดำน้ำลึก

ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ในการใช้ยาป้องกัน แพทย์อาจให้ยาพ่นจมูกที่เข้ายาแก้คัดจมูก (decongestant) เข้าจมูกทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 4 ครั้ง หรือให้กินสูโดเอฟีดรีน ก่อนออกเดินทางหรือดำน้ำ 30-60 นาที (ถ้าเป็นการนั่งเครื่องบินเดินทางไกลควรกินก่อนเครื่องลง 30-60 นาที) ถ้าเป็นโรคหวัดภูมิแพ้ ก็จะให้กินยาแก้แพ้ ก่อนออกเดินทางหรือดำน้ำ 30-60 นาที

2. เวลานั่งเครื่องบิน ขณะเครื่องกำลังบินขึ้นหรือลง ควรทำท่าหาวและกลืนน้ำลาย หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง (สำหรับทารกและเด็กเล็ก ให้เด็กดื่มนมหรือน้ำ โดยให้อยู่ในท่านั่ง ถ้าดูดจากหลอดได้ให้เด็กใช้หลอดดูด กระตุ้นให้มีการกลืนบ่อย ๆ) เพื่อกระตุ้นให้ท่อยูสเตเชียนเปิด

3. เวลาดำน้ำลึก ควรดำลงอย่างช้า ๆ เพื่อให้หูมีเวลาปรับตัว


ข้อแนะนำ

ผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบิน หรือดำน้ำลึก ควรเรียนรู้วิธีป้องกันโรคนี้ และวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการ หากอาการไม่ทุเลาภายใน 2-3 ชั่วโมง ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว และดูแลรักษาอย่างจริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน




หมอออนไลน์: หูบาดเจ็บจากความกดดันอากาศ (Barotrauma/Barotitis media) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com

 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว ลงโฆษณาฟรี google