มะเร็งเซลล์ตับ Hepatocellular carcinoma (HCC) ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่ทำให้เสียชีวิต ที่ผ่านมาการตรงจคัดกรองมะเร็งตับจะใช้การตรวจอัลตราซาวด์ ร่วมกับการตรวจสารบ่งชี้ AFP (alpha-fetoprotein) ในผู้ที่มีความเสี่ยง แต่การตรวจ AFP ในผู้ที่เป็นมะเร็งตับในระยะแรกอาจยังพบค่าเลือดปกติ ในปัจจุบันจึงได้มีการตรวจตัวบ่งชี้มะเร็งตับชนิดใหม่ ด้วยการตรวจโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า PIVKA-II (พิฟก้าทู) ที่สามารถวินิจฉัยมะเร็งตับในระยะแรกได้ดีกว่า AFP และถ้าตรวจทั้ง AFP ร่วมกับ PIVKA-II จะมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น
มะเร็งเซลล์ตับ (HCC)
มะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma; HCC) เกิดจากการกลายพันธุ์และเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ตับ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของตับมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การดื่มสุรา หรือไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี หรือไขมันพอกตับ ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง หรือไขมันพอกตับ อาจเกิดมะเร็งตับได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีภาวะตับแข็งนำมาก่อน
โดยมะเร็งเซลล์ตับนั้น นับว่าเป็นมะเร็งที่พบได้เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และมีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงมาก เนื่องจากไม่มีอาการในระยะแรก และมักมาพบแพทย์ในระยะแพร่กระจายแล้ว ดังนั้นการตรวจพบมะเร็งตับในระยะแรกเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากโรคมากขึ้นเนื่องจากสามารถผ่าตัดได้
การตรวจสารบ่งชี้ PIVKA-II คัดกรองมะเร็งตับ คืออะไร
การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งชนิดใหม่จากการตรวจเลือด ด้วยการตรวจโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่าพิฟก้าทู หรือ PIVKA-II (Protein induced by vitamin K absence or antagonist-II) ที่สามารถวินิจฉัยมะเร็งตับในระยะแรกได้ดีกว่า AFP และการตรวจ PIVKA-II พร้อมกับ AFP (Alpha-Fetoprotein) โดยจะนำค่า PIVKA-II และ AFP ร่วมกับเพศ และอายุมาคำนวณค่า GAAD Score (ค่าระยะเริ่มต้นคะแนนปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ 0-10 เพื่อช่วยในการคัดกรองมะเร็งเซลล์ตับ (HCC) ระยะเริ่มต้น สามารถรายงานผลคะแนน ตั้งแต่ 1-10 มีค่า Cut off เท่ากับ 2.57)จะเพื่อช่วยในการคัดกรองมะเร็งเซลล์ตับ Hepatocellular carcinoma (HCC) ที่มีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้
ข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจ
ผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นโรคตับแข็ง หรือพังพืดในตับ ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี หรือผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งตับ
ข้อควรระวังในการตรวจ PIVKA-II
ยาที่มีส่วนผสมของวิตามินเคอาจส่งผลให้ค่า PIVKA-II ลดลงได้
ยาต้านฤทธิ์ของวิตามินเค และภาวะทางการแพทย์ที่ทำให้เกิดการขาดวิตามินเค เช่น การอุดตันของทางเดินน้ำดี หรือภาวะท่อน้ำดี อาจส่งผลให้ ค่า PIVKA-II สูงขึ้น
ไม่ควรทดสอบ PIVKA-II ในผู้ป่วยที่ได้รับยาฤทธิ์ของวิตามินเค (วาร์ฟาริน ฯลฯ)
ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของไตพบว่ามีระดับ PIVKA-II สูงขึ้น ควรพิจารณาร่วมกับการตรวจระดับครีเอตินินในเลือด
มะเร็งเซลล์ตับ (HCC) ระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการแสดง การตรวจสารบ่งชี้ PIVKA-II ร่วมกับ AFP ช่วยในการคัดกรองมะเร็งเซลล์ตับ Hepatocellular carcinoma (HCC) ให้มีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพราะหากตรวจพบมะเร็งตับในระยะแรกจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากโรคมากขึ้น
ดูแลสุขภาพ: PIVKA-II การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับชนิดใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรอง อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.healthyhitech.net/