โรคความดันโลหิตสูงหากไม่รักษา อาจทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้ (Hypertension)ความดันโลหิตสูง ภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตอยู่ในระดับสูงผิดปกติ เป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
ความดันโลหิตคืออะไร?
ความดันโลหิต เป็นแรงดันเลือดที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งวัดได้ 2 ค่า ได้แก่
- ความดันโลหิตค่าบน คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวเต็มที่
- ความดันโลหิตค่าล่าง คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัวเต็มที่
ความดันโลหิตสูงคืออะไร?
ความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตอยู่ในระดับสูงผิดปกติ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งอาจไม่แสดงอาการแต่จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ไตวาย เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม อาจทำให้ผู้ป่วยทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้
ตารางแสดงค่าความดันโลหิต
ประเภท ความดันโลหิตตัวบน (มม.ปรอท) ความดันโลหิตตัวล่าง (มม.ปรอท)
ความดันโลหิตที่ดี ต่ำกว่า 120 และ ต่ำกว่า 80
ความดันโลหิตปกติ 120 – 129 และ/หรือ 80 – 84
ความดันโลหิตค่อนข้างสูง 130 – 139 และ/หรือ 85 – 89
ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย (ระยะที่ 1)140 – 159 และ/หรือ 90 – 99
ความดันโลหิตสูงปานกลาง (ระยะที่ 2)160 – 179 และ/หรือ 100 – 109
ความดันโลหิตสูงมาก (ระยะที่ 3) ตั้งแต่ 180 ขึ้นไป และ/หรือตั้งแต่ 110 ขึ้นไป
จุดมุ่งหมายในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง
เพื่อลดอัตราการเกิดทุพพลภาพและเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โดยค่าความดันโลหิตเป้าหมายในการรักษา คือ
ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทั่วไป ควรมีค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
ตัวบน 120 – 130 มิลลิเมตรปรอท
ตัวล่าง 70 – 79 มิลลิเมตรปรอท
ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีเบาหวานหรือไตเสื่อมร่วมด้วย ควรมีค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท
วิธีการวัดความดันโลหิตที่บ้าน
1. ไม่ดื่มชา กาแฟ สูบบุหรี่ หรือออกกำลังกายก่อนทำการวัด 30 นาที
2. ก่อนทำการวัดควรถ่ายปัสสาวะให้เรียบร้อย
3. นั่งเก้าอี้โดยให้หลังพิงพนักเพื่อไม่ให้หลังเกร็งเท้าทั้ง 2 ข้างวางราบกับพื้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายเป็นเวลา 5 นาที ก่อนวัดความดันโลหิต
4. วัดความดันโลหิตในแขนข้างที่ไม่ถนัด หรือข้างที่มีความดันโลหิตสูงกว่า โดยวางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ
5. ขณะวัดความดันโลหิตไม่กำมือ ไม่พูดคุย หรือขยับตัว
ในการวัดค่าความดันโลหิตแต่ละครั้งควรใช้วิธีการวัดให้ถูกต้อง พร้อมจดบันทึกตัวเลขค่าความดันโลหิตตัวบนและตัวล่างรวมทั้งอัตราการเต้นของหัวใจในสมุดประจำตัวผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โดยวัดค่าความดันโลหิตอย่างน้อยวันละ 2 ช่วงเวลา ได้แก่
ช่วงเช้า วัดความดันโลหิตอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 - 2 นาที ภายใน 2 ชั่วโมงหลังตื่นนอน และก่อนรับประทานยาลดความดันโลหิต
ช่วงก่อนเย็น วัดความดันโลหิตอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 - 2 นาที
อาการของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่บางรายพบว่ามีอาการปวดหัว เวียนหัว มึนงง และเหนื่อยง่ายผิดปกติ ซึ่งหากมีภาวะความดันโลหิตสูงนานๆ แต่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อวัยวะสำคัญต่างๆ ในร่างกายถูกทำลาย ได้แก่ หัวใจ สมอง ไต หลอดเลือด และตา เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงจะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้นและรูเล็กลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้น้อยลง ส่งผลให้อวัยวะเหล่านั้นทำงานไม่เป็นปกติ และหากถูกทำลายอย่างรุนแรงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
1. ลดน้ำหนัก ในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน
2. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม
3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรจำกัดปริมาณให้น้อยกว่าวันละ 1 แก้ว
4. งดสูบบุหรี่
5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การเกิดภาวะแทรกซ้อนแบ่งได้ 2 กรณี คือ
1. ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงโดยตรง เช่น หัวใจวาย
2. ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดตีบหรือตัน
หากเกิดบริเวณหลอดเลือดหัวใจ จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรังหรือเฉียบพลัน ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
หากเกิดที่บริเวณหลอดเลือดในสมอง จะทำให้หลอดเลือดในสมองตีบหรืออุดตัน และอาจทำให้เป็นอัมพาต
หากเกิดบริเวณไต อาจทำให้ไตวายได้