ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: สายตาสั้น (Myopia/Nearsightedness)  (อ่าน 43 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 517
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: สายตาสั้น (Myopia/Nearsightedness)
« เมื่อ: 11 พฤศจิกายน 2024, 14:33:42 pm »
Doctor At Home: สายตาสั้น (Myopia/Nearsightedness)

สายตาสั้น เป็นความผิดปกติของสายตา ที่มีอาการมองใกล้ชัด แต่มองไกลไม่ชัด เป็นภาวะที่พบได้บ่อย (พบได้ประมาณร้อยละ 25 ของเด็กในวัยเรียน) อาจเป็นเพียงตาข้างเดียว หรือ 2 ข้างก็ได้ และสายตาทั้ง 2 ข้างอาจจะสั้นไม่เท่ากันก็ได้

โรคนี้มักพบเป็นกันหลายคนในหมู่ญาติพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน

สายตาสั้น แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ สายตาสั้นชนิดไม่รุนแรง (ซึ่งพบเห็นเป็นส่วนใหญ่ มีภาวะสายตาสั้นไม่รุนแรง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง) และสายตาสั้นชนิดรุนแรง (ซึ่งพบได้น้อย สายตาสั้นค่อนข้างมากถึงรุนแรง และมักมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง)


สาเหตุ

สายตาสั้น มีสาเหตุจากกระจกตามีความโค้งมากกว่าปกติ ซึ่งมีกำลังในการหักเหแสงมากขึ้น ทำให้จุดรวมแสงของภาพของวัตถุที่อยู่ไกลตกอยู่ข้างหน้าจอตา ไม่ตกตรงจอตาพอดี จึงมีอาการมองไกล ๆ ไม่ชัด

  สายตาสั้นยังอาจเกิดจากกระบอกตามีความยาว (ระยะจากกระจกตาถึงจอตา) มากกว่าปกติ ทำให้จุดรวมแสงของภาพของวัตถุที่อยู่ไกลตกไม่ถึงจอตา ทำให้เกิดอาการมองไกลไม่ชัด มักทำให้มีสายตาสั้นที่ค่อนข้างมากถึงรุนแรง

เชื่อว่าความผิดปกติดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นมาแต่กำเนิดโดยธรรมชาติของคนคนนั้น อาจมีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์และเชื้อชาติ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดอาการสายตาสั้น ได้แก่ การใช้เวลามากในการเพ่งมองวัตถุที่อยู่ใกล้ (เช่น การอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ดูจอคอมพิวเตอร์) หรือการเล่นสมาร์ตโฟนเป็นเวลานาน ๆ เป็นประจำ การใช้เวลาในที่กลางแจ้งน้อย


อาการ

สายตาสั้น จะมีอาการมองไกล ๆ (เช่น มองกระดานดำ ดูโทรทัศน์) ไม่ชัด ต้องคอยหยีตา แต่มองใกล้ (เช่น อ่านหนังสือ ดูจอคอมพิวเตอร์) ได้ชัดเจน

  ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะหรือตาล้าจากการเพ่งมองวัตถุที่อยู่ไกล

เด็กที่มีสายตาสั้น อาจมีอาการกะพริบตาบ่อย ใช้นิ้วขยี้ตาบ่อย นั่งดูทีวีใกล้จอ และถ้าสายตาสั้นมาก ๆ อาจมีอาการตาเขร่วมด้วย

สำหรับสายตาสั้นชนิดไม่รุนแรง จะเริ่มมีอาการแสดงในระยะที่เริ่มเข้าโรงเรียน และจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งอายุ 25 ปีจึงอยู่ตัวไม่สั้นมากขึ้น สายตาสั้นชนิดนี้จะไม่สั้นมาก และไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง

  ในรายที่เป็นสายตาสั้นชนิดรุนแรง ซึ่งมักเกิดจากมีกระบอกตายาวกว่าปกติมากและอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง อาจพบว่าในระยะแรกจะมีอาการสายตาสั้นคล้ายชนิดไม่รุนแรง แต่จะมีสายตาสั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้น แม้เลยวัย 25 ปีไปแล้ว หรืออาจพบมีอาการสายตาสั้นขนาดมาก ๆ มาตั้งแต่อายุน้อย (ในวัยรุ่น) จะสังเกตเห็นเมื่อเด็กเริ่มหัดเดิน มักจะเดินชนถูกสิ่งกีดขวาง หกล้มบ่อย ๆ หรือเวลามองดูอะไรต้องเข้าไปใกล้ ๆ จนตาแทบชิดกับวัตถุที่มอง ต้องสวมแว่นหนา ๆ อาจต้องเปลี่ยนแว่นแรงขึ้นเรื่อย ๆ

  สายตาสั้นชนิดรุนแรงที่พบตั้งแต่วัยเด็กดังกล่าว เรียกว่า "สายตาสั้นชนิดร้าย (malignant myopia)" เป็นภาวะที่พบได้น้อย มีความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

ภาวะแทรกซ้อน

ความบกพร่องในการมองเห็น ทำให้เกิดความบกพร่องในการเรียนและการทำงาน และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย (เช่น ขณะขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร)

เด็กเล็กที่มีสายตาสั้นมาก ๆ อาจเกิดอาการตาเขได้

สำหรับสายตาสั้นชนิดรุนแรง อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาฉีกขาดหรือหลุดลอก เลือดออกที่จอตา เป็นต้น ทำให้ตาบอดได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการใช้เครื่องตรวจวัดสายตาและการตรวจสุขภาพตาซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน และอาจวัดสายตาด้วยการทดลองให้มองผ่านเลนส์หลาย ๆ ขนาดเพื่อหาขนาดที่ให้ความคมชัดที่สุด

บางครั้งแพทย์อาจให้ยาหยอดตาขยายรูม่านตา เพื่อเปิดมุมกว้างสำหรับการตรวจภายในลูกตาได้ละเอียด อาจทำให้เห็นแสงจ้า หรือรู้สึกตาพร่ามัวอยู่สักพักใหญ่ และจะหายดีหลังจากยาหมดฤทธิ์

การรักษาโดยแพทย์

ถ้ามีอาการเล็กน้อย และไม่มีอุปสรรคต่อการเรียนหรือการทำงาน แพทย์อาจแนะนำให้เฝ้าสังเกตอาการและนัดมาตรวจวัดสายตาเป็นระยะ

สำหรับผู้ที่มีสายตาสั้นซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนหรือการทำงาน แพทย์จะทำการแก้ไขด้วยการให้ผู้ป่วยใส่แว่นชนิดเลนส์เว้า หรือเลนส์สัมผัสหรือคอนแทคเลนส์* ตามขนาดสายตาที่ตรวจวัดได้

ในผู้ที่เป็นสายตาสั้นชนิดรุนแรง แพทย์จะนัดมาตรวจวัดสายตา ปรับเปลี่ยนแว่น และตรวจดูภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาเป็นระยะ

  แพทย์อาจให้การรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับการใช้เลเซอร์ เพื่อปรับความโค้งของกระจกตาให้จุดรวมแสงตกบนจอตาพอดี สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี มีสายตาที่คงที่แล้ว และไม่มีภาวะที่เป็นข้อห้ามในการทำการผ่าตัด การรักษาด้วยการผ่าตัดแบบนี้มีอยู่หลายวิธี

  ที่นิยมได้แก่ วิธีที่เรียกว่า เลสิก (LASIK ซึ่งย่อมาจาก laser assisted in situ keratomileusis) โดยแพทย์จะใช้มีดเฉพาะ (microkeratome) ฝานกระจกตาโดยรอบ และใช้เลเซอร์ (excimer laser) ยิงให้กระจกตาส่วนที่อยู่ตรงกลางแบนลงให้ได้ขนาดที่เหมาะกับระดับของสายตาสั้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ** รวมทั้งการผ่าตัดฝังเลนส์เทียม (intraocular lens implant/IOL) โดยแพทย์จะผ่ากระจกตาเป็นรอยเล็ก ๆ แล้วฝังเลนส์ตาเทียมเข้าไปในตาของผู้ป่วย ซึ่งช่วยให้จุดรวมแสงของภาพของวัตถุที่อยู่ไกลตกตรงจอตา ทำให้มองเห็นได้ชัดขึ้น

ผลการรักษา ส่วนใหญ่ช่วยให้มีสายตาเป็นปกติ สำหรับสายตาสั้นชนิดรุนแรงซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้

*ผู้ที่มีสายตาผิดปกติ บางคนอาจนิยมใส่เลนส์สัมผัสหรือคอนแท็กต์เลนส์ (contact lenses) ซึ่งมีให้เลือกอยู่หลายชนิด การใช้เลนส์สัมผัสมีข้อควรระวังในการใช้และการดูแลเป็นพิเศษมากกว่าการใส่แว่น หากใช้ไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ตาและแผลกระจกตา (corneal ulcer) ได้ ก่อนใช้ควรขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกเคืองตา น้ำตาไหลมากกว่าปกติ ตาแดง ตามัว เป็นต้น ควรถอดเลนส์สัมผัสออก และไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

**ในปัจจุบัน นอกจากเลสิก (LASIK) แล้ว ยังมีวิธีใหม่ ๆ ในการรักษาสายตาสั้นอีกหลายวิธี เช่น Laser-assisted subepithelial keratectomy (LASEK), Photorefractive keratectomy (PRK), Small incision lenticule extraction (SMILE) เป็นต้น ซึ่งมีข้อดี ข้อเสีย ข้อห้ามและข้อควรระวังต่าง ๆ กันไป ควรปรึกษาจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ได้ความชัดเจนว่าวิธีไหนที่เหมาะกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการมองไกลไม่ชัด เด็กมีอาการกะพริบตาหรือขยี้ตาบ่อย ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นสายตาสั้น ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการสายตาสั้นมากขึ้น หรือใส่แว่นสายตาแล้วยังมองเห็นไม่ชัด
    มีอาการตาล้า หรือปวดศีรษะบ่อย
    สงสัยมีภาวะแทรกซ้อนหรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะมาก ปวดตามาก ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน เห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลช หรือเห็นจุดดำคล้ายเงาหยากไย่หรือแมลงลอยไปมา เป็นต้น

การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างตาที่เป็นมาแต่กำเนิด

อาจลดความเสี่ยงของการเกิดอาการสายตาสั้นลงด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้

1. การส่งเสริมให้เด็กวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวช่วงต้นใช้เวลาอยู่ในที่กลางแจ้งให้มากขึ้น โดยสันนิษฐานว่า แสงอัลตราไวโอเลตจากแสงแดด มีส่วนช่วยยับยั้งไม่ให้กระบอกตามีความยาวมากกว่าปกติ จึงช่วยลดการเกิดสายตาสั้นได้*

2. ดูแลสุขภาพตา เพื่อป้องกันไม่ให้สายตาแย่ลง โดยการปฏิบัติตัวดังนี้

    หมั่นออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ และบริโภคอาหารสุขภาพ โดยลดของมัน ของหวาน ของเค็ม และกินผัก ผลไม้และปลาให้มาก ๆ
    ลดการสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลต โดยการสวมแว่นตากันแดดเวลาออกกลางแดดจ้า
    ใส่แว่นสายตาที่เหมาะกับระดับสายตา
    ใส่อุปกรณ์ป้องกันตาเวลาทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของตา (เช่น เล่นกีฬา ตัดหญ้า ทาสี หรือการสัมผัสสารเคมี)
    ควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง (ถ้าเป็นโรคเหล่านี้)
    ป้องกันอาการตาล้า โดยการพักตาเวลาใช้สายตามาก (เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ดูจอคอมพิวเตอร์) ทุก ๆ 20 นาที ให้มองวัตถุที่อยู่ห่างระยะ 20 ฟุต นาน 20 วินาที
    ทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา (เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ) ในที่ที่มีแสงสว่างที่มากพอ
    หมั่นตรวจเช็กสุขภาพตา (ตามที่แพทย์แนะนำ)


ข้อแนะนำ

1. ผู้ที่มีสายตาสั้นชนิดไม่รุนแรง อาจไม่ทราบว่าตัวเองมีสายตาผิดปกติเนื่องจากไม่มีอาการที่เด่นชัด ดังนั้น แนะนำว่าคนทั่วไปทั้งเด็กและผู้ใหญ่ควรตรวจวัดสายตาเป็นระยะ ตามโรงเรียนต่าง ๆ ควรมีแผ่นวัดสายตา (ที่นิยมใช้กันคือ Snellen chart) ไว้ตรวจวัดสายตานักเรียนทุกคน ถ้าพบว่าผิดปกติ จะได้ส่งเด็กไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

  2. ผู้ที่เป็นสายตาสั้น จะใส่แว่นประจำหรือไม่ก็ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสายตา ความเชื่อที่ว่าใส่แว่นประจำหรือเปลี่ยนแว่นบ่อย ๆ ทำให้ตาสั้นมากขึ้นจึงไม่เป็นความจริง ถ้าสายตาจะสั้นมากขึ้นก็เพราะธรรมชาติของคนคนนั้น โดยทั่วไปเมื่ออายุประมาณ 25 ปี สายตามักจะอยู่ตัว ไม่ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย

 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว ลงโฆษณาฟรี google