ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach cancer/Gastric cancer)  (อ่าน 18 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 472
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach cancer/Gastric cancer)

มะเร็งกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่พบในคนอายุมากกว่า 40 ปี พบมากในช่วงอายุ 60-80 ปี คนอายุน้อยกว่า 40 ปีก็พบได้แต่น้อย มะเร็งชนิดนี้พบประมาณร้อยละ 2.2 ของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั้งหมด และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า (สถิติปี 2563)

สาเหตุ

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ ทั้งปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรม ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่

    ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยที่สุด คือ การติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori/Helicobacter pylori) ของกระเพาะอาหาร ซึ่งทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง (chronic gastritis) และแผลกระเพาะอาหาร พบว่ามากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจะมีประวัติการติดเชื้อดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้อเอชไพโลไรมีเพียงส่วนน้อย (ประมาณร้อยละ 2) ที่จะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เชื่อว่าการเกิดมะเร็งชนิดนี้มีปัจจัยเกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ของเชื้อ ปัจจัยด้านปัจเจกบุคคลและสิ่งแวดล้อม

    ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยอื่น ๆ ได้แก่ การสูบบุหรี่, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด (วันละมากกว่า 3 ดื่มมาตรฐาน หรือมากกว่าปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 30 กรัม), การกินเนื้อสัตว์หมักเกลือ (เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม) เนื้อสัตว์รมควันหรือใส่ดินประสิว (เช่น ไส้กรอก แหนม กุนเชียง เป็นต้น), การกินเนื้อแดง (เนื้อวัว หมู) โดยการปิ้งย่าง, การกินของหมักดอง, การกินผักและผลไม้น้อย, ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน

    ปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ พบว่าประมาณร้อยละ 10 ของผู้ที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร มีประวัติมีพ่อแม่พี่น้องหรือญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

    ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น การมีติ่งเนื้อเมือก (stomach polyps) ที่กระเพาะอาหาร, การมีประวัติเป็นโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง (pernicious anemia) ซึ่งเกิดจากภาวะขาดวิตามินบี 12, การมีประวัติเคยผ่าตัดกระเพาะอาหารมาก่อน

อาการ

ระยะแรกเริ่มจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ต่อมาเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นก็จะมีอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย ท้องอืด แน่นท้องตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือเหนือสะดือคล้ายโรคกระเพาะ รู้สึกอิ่มเร็วหลังกินอาหารปริมาณเพียงเล็กน้อย

ในช่วงแรกกินยารักษาโรคกระเพาะอาการก็ทุเลาได้ แต่ต่อมาจะไม่ได้ผลและมีอาการอื่นตามมา เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย กลืนลำบาก เบื่ออาหาร ท้องผูกหรือท้องเดิน คลื่นไส้อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ น้ำหนักลด ซีด ดีซ่าน (ตาเหลือง) เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น ทำให้ทางเดินอาหารอุดกั้น (ปวดท้อง อาเจียน) มีเลือดออก (อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ โลหิตจาง)

มะเร็งมักลุกลามไปที่อวัยวะข้างเคียง ในช่องท้อง (ทำให้ปวดท้อง ท้องมาน) ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง แอ่งเหนือไหปลาร้า และในระยะท้ายมักแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปที่ปอด (เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก), ตับ (เจ็บชายโครงขวา ตาเหลืองตัวเหลือง ท้องมาน), กระดูก (ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ) และอาจไปที่สมอง (ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ แขนขาชาและเป็นอัมพาต ชัก)

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ระยะแรกมักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ ระยะต่อมาอาจตรวจพบภาวะซีด ดีซ่าน (ตาเหลือง)

ในรายที่มีก้อนมะเร็งลุกลาม อาจคลำพบก้อนแข็งตรงบริเวณเหนือสะดือหรือใต้ชายโครง หรือตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตที่เหนือบริเวณไหปลาร้าข้างซ้าย ตับโต

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยเอกซเรย์กระเพาะอาหารโดยการกลืนแป้งแบเรียม การใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะอาหาร (gastroscopy) และตัดชิ้นเนื้อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจหาระดับสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ได้แก่ สารซีอีเอ (carcinoembryonic antigen/CEA) ซึ่งมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยและการติดตามผลการรักษา

หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), การตรวจเพทสแกน (PET scan) เป็นต้น เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด และเคมีบำบัด ในรายที่เป็นมากอาจให้เคมีบำบัดรังสีบำบัด และ/หรือการใช้ยาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy drugs)

ผลการรักษา ถ้าเป็นมะเร็งระยะแรก ๆ การรักษาได้ผลดี หรือหายขาดได้ (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 80-90)

แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์เมื่อมีอาการในระยะท้าย ๆ ซึ่งมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว การรักษามักได้ผลไม่ดี มักมีชีวิตอยู่ได้นานสักระยะหนึ่ง (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีประมาณร้อยละ 20-40)

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปวดแน่นท้องตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือเหนือสะดือคล้ายโรคกระเพาะนานเกิน 2-4 สัปดาห์ หรือกินยารักษาโรคกระเพาะไม่ทุเลา, อาเจียนบ่อย, อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ, น้ำหนักลด เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
    ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
    ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
    ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
    ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

มีวิธีปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนี้

    ไม่สูบบุหรี่
    หลีกเลี่ยงการดื่มสุราจัด หากจะดื่มควรดื่มเป็นบางครั้งบางคราว ในปริมาณเล็กน้อย (1 ดื่มมาตรฐานสำหรับผู้หญิง หรือ 2 ดื่มมาตรฐานสำหรับผู้ชาย ต่อวัน)
    หลีกเลี่ยงการกินปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผักดอง เนื้อสัตว์รมควันหรือใส่ดินประสิว เนื้อแดงที่ปิ้งย่าง
    กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ
    หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
    ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อเอชไพโลไรของกระเพาะอาหารควรรักษาให้หายขาด

ข้อแนะนำ

1. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะอาหารตรวจกรองมะเร็งตั้งแต่ก่อนจะมีอาการ หากพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรก การรักษาจะได้ผลดี มีอายุยืนยาว

2. ผู้ที่มีอาการปวดจุกแน่นท้อง หรือมีอาการของโรคกระเพาะเรื้อรังหรือกำเริบบ่อย หรือกินยารักษาโรคกระเพาะแล้วไม่ทุเลา หรือทุเลาในระยะแรกแล้วต่อมายาที่กินกลับไม่ได้ผล หรือมีอาการครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

3. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว ลงโฆษณาฟรี google