เช็กสัญญาณเตือน ‘โรคไตวายเรื้อรัง’สถานการณ์ของโรคไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease) ในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เพราะจากข้อมูลการศึกษาและวิจัยของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทยมีอาการของโรคไตเรื้อรัง คิดเป็นประมาณร้อยละ 17.6 ของผู้ป่วย 8 ล้านคน และยังพบด้วยว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายอีกราวๆ 80,000 คน ซึ่งตัวเลขมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีในสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็น ‘วันไตโลก’ (World Kidney day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม โดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้กำหนดประเด็นรณรงค์ ประจำปี 2567 คือ ‘Kidney Health for All – Advancing Equitable Access to Care and Optimal Medication Practice’ หรือ ‘ครอบคลุมทุกสิทธิ์ พิชิตโรคไต ใส่ใจการใช้ยา’
รู้จักโรคไตวายเรื้อรัง
โรคไต คือ ภาวะที่ไตถูกทำลายโดยเฉพาะจุดที่เป็นเนื้อไต ซึ่งส่งผลกระทบให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไม่ว่าจะเรื่อง การรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย, การควบคุมน้ำและแร่ธาตุต่างๆ ในเลือด, การกำจัดของเสียออกจากเลือด, การกำจัดยาและพิษออกจากร่างกาย และการหลั่งฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด เป็นต้น ทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากอาการโรคไตวาย ทำให้ไตไม่สามารถกลับมาทำงานได้ดีดังเดิม
ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไตวาย เริ่มแรกจะไม่ค่อยแสดงอาการใดๆ ให้เห็น ทว่าหากเราไม่หมั่นตรวจเช็กร่างกายหรือสังเกตความผิดปกติ และเลือกที่จะปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา ไตจะเสื่อมสภาพลงจนเข้าสู่ระยะสุดท้าย มีของเสียคั่งอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งต้องทำการรักษาด้วยวิธีการบำบัดทดแทนไต อาทิเช่น การฟอกเลือด ล้างไตทางช่องท้อง หรือรักษาด้วยการปลูกถ่ายไต เป็นต้น
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงโรคไตวายเรื้อรัง
ผู้มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป เพราะไตจะยิ่งเสื่อมสภาพเมื่ออายุมากขึ้น
คนที่น้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง
ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไตและเบาหวาน
คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำทุกวัน
อาการเตือนโรคไตวายเรื้อรัง
ปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อยขึ้น มีฟองมาก และมีเลือดเจือปน
เบื่ออาหาร
กล้ามเนื้อเป็นตะคริวตอนกลางคืน
เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย และใบหน้าซีดเซียว
ปวดหลังหรือบั้นเอวข้างใดข้างหนึ่ง
มีอาการบวมตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เช่น หน้าบวม ตาบวม หรือเท้าบวม เป็นต้น
โรคไตวายระยะสุดท้าย รักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง ?
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) เป็นการนำเลือดของผู้ป่วยที่มีของเสียคั่งค้างอยู่ มาผ่านกระบวนการกรองเลือด เพื่อแยกของเสียออกจากเลือด จากนั้นค่อยนำเลือดที่ถูกกรองจนสะอาดดีแล้ว ใส่กลับคืนสู่ร่างกายผู้ป่วย
การล้างช่องท้องด้วยน้ำยา (CAPD) โดยผู้ป่วยจะต้องใส่น้ำยา CAPD เข้าไปในช่องท้องตนเอง ครั้งละ 2 ลิตร ความถี่ 3-4 ครั้ง/วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วย
การปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) คือวิธีรักษาโรคไตวายขั้นสุดท้ายและให้ผลดีที่สุด
ข้อดีของการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย
สิ่งที่ผู้ป่วยจะได้รับหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนไต พักฟื้นจนแผลหายสนิท นอกเหนือจากคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ผู้ป่วยเปรียบเสมือนได้รับชีวิตใหม่และอายุขัยเพิ่มขึ้นกว่าการฟอกเลือดหรือล้างไตเพียงอย่างเดียว เหตุผลข้างต้น มีหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทั่วโลกและในประเทศไทยก็ยังมีข้อมูลรายงานของกระทรวงสาธารณสุขไปในทิศทางเดียวกันว่า อัตราการอยู่รอดภายในระยะเวลา 5 ปี หลังจากผู้ป่วยไตวายเรื้อรังหรือไตวายเฉียบพลัน เมื่อได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่ จะมีอัตราการอยู่รอดที่ประมาณร้อยละ 75 แต่สำหรับผู้ป่วยที่ใช้วิธีการบำบัดทดแทนไตจะมีอัตราการอยู่รอดราวๆ ร้อยละ 35 กล่าวคือจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีชีวิตยืนยาวขึ้นนั่นเอง
การผ่าตัดเปลี่ยนไตสามารถทำได้ด้วยการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่เป็นญาติสายตรงหรือกับคู่สามีภรรยา และการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคสมองตายซึ่งในทางกฎหมายคือผู้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้องด้านล่างด้านใดด้านหนึ่ง รวมถึงใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 4-5 ชั่วโมง และจำเป็นต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลร่วม 2 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนภายหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนไตพักฟื้น นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ผ่านการปลูกถ่ายไตยังต้องรับประทานยากดภูมิเพื่อป้องกันการปฏิเสธไตตลอดชีวิต แต่สามารถกลับมาใช้ชีวิตกลับไปทำงานได้ตามปกติ ปัสสาวะได้เหมือนคนทั่วไป และมีชีวิตที่ยืนยาวกว่าผู้ป่วยโรคไตที่รักษาด้วยการบำบัดทดแทนพอสมควร